วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2552

วัดประจำรัชกาล

http://ecurriculum.mv.ac.th/elibrary/library/theyoung.net/rf1.gif
การสืบต่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาที่ถือว่าเป็นการสร้างบุญอย่างยิ่งใหญ่คือ การสร้างและปฏิสังขรณ์วัด ผู้ที่มีกำลังทรัพย์ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ขุนนาง จะสร้างวัดขึ้นเป็นวัดประจำตระกูลไว้สำหรับใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล และบรรลุอัฏิธาตุของคนในวงศ์ตระกูล ซึ่งเป็นคติที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายถึงเรื่องคตินิยมในการสร้างวัดประจำรัชกาลไว้ในหนังสือเรื่อง "ความทรงจำ" ว่า
พระบรมราชานุสาวรีย์รัชการที๑ ประดิษฐานที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธ เป็นดินแดนแห่งความสงบร่มเย็น เพราะมีพระพุทธศาสนาคอยหล่อเลี้ยงจิตใจชาวไทยทุกชนชั้นวรรณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นพระประมุขของชาติ และทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกสืบต่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยพระราชศรัทธาอันแรงกล้า ดังจะเห็นได้จากพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่ปรากฎอยู่ในเพลงยาวพระราชนิพนธ์ว่า
"ตั้งใจจะอุปถัมภก
ยอยกพระพุทธศาสนา
จะป้องกันขอบขัณฑสีมา
รักษาประชาและมนตรี"
ภาพจิตรกรรมในพระวิหารหลวงของวัดสุทัศนฯ เป็นภาพพระมหากษัตริย์กำลังเข้าเฝ้าอดีตพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
"เรื่องสร้างวัดราชบพิธฯ นั้น ตามประเพณีโบราณ เมื่อผู้ใดสร้างสามารถตั้งวงศ์สกุลของตนได้ แม้เป็นแต่ชั้นคฤหบดีก็ย่อมสร้างวัดสำหรับสกุลขึ้นเป็นที่บำเพ็ญการกุศล และบรรจุอัฐิธาตุของสมาชิกในวงศ์สกุล จึงมีวัดที่ในเมืองสุโขทัยและในพระนครศรีอยุธยามากมายด้วยประเพณีที่ว่านี้ และเป็นคติถือกันมาว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชย์แล้ว ต้องสร้างวัดประจำรัชกาลทุกพระองค์ ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ วัดพระเชตุพนฯ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ วัดอรุณฯ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๒ วัดราชโอรสฯ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๓ และวัดราชประดิษฐ์ฯ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ จึงให้สร้างวัดราชบพิธฯขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาล"

พระพุทธรูปทรงเครื่องที่หน้ามุขพระอุโบสถ วัดอรุณราชวรารามฉลองพระองค์อย่างพระมหากษัตริย์ ตามเรื่องในชมพูบดีสูตร พระพุทธองค์ทรงแปลงพระวรกายเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เพื่อปราบพยศท้าวชมพูบดี พระพุทธรูปลักษณะเช่นนี้นิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปฉลองพระชนมายุของพระมหากษัตริย์
หนังสือ "ประชุมพงศาวดาร" เล่มที่ ๑๕ ได้กล่าวถึงสาระซึ่งทำให้พอจะสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่า คติเรื่องวัดประจำรัชกาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คงจะเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์ เนื่องจากมีพระราชดำริว่าพระบรมอัฐินั้นเมื่อตกมาถึงทายาทอาจไม่สามารถพิทักษ์รักษาให้สมพระเกียรติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญกลับมาและนำมาบรรจุไว้ตามวัดที่พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นทรงผูกพันเพื่อให้การบำเพ็ญพระราชกุศลและการสักการบูชาของคนทั่วไปเป็นไปได้โดยสะดวก
"การที่บรรจุพระบรมอัฐิ เป็นกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริว่าพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๓ รัชกาลก่อน ซึ่งเป็นส่วนของพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลนั้นๆ ได้พระราชทานไป เมื่อเจ้านายสิ้นพระชนม์ไม่มีผู้พิทักษ์รักษา ได้เชิญกลับมารักษาไว้เป็นของหลวงมีอยู่ควรจะประดิษฐานไว้ให้มหาชนกระทำสักการบูชา และบำเพ็ญกุศลสนองพระเดชพระคุณได้โดยง่าย จึงโปรดให้บรรจุพระบรมอัฐิในกลางศิลา และเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ไปบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์พระประธาน ในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จฯพระพุทธเลิศหล้านภาลัยบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์พระประธานในพระอุโบสถวัดราชโอรสและมีรับสั่งไว้ว่าให้บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ที่วัดราชประดิษฐ์อย่างเดียวกัน"

วัดประจำรัชกาลในปัจจุบัน โดยเฉพาะวัดพระเชตุพนฯและวัดอรุณฯ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว "ยอดนิยม" ของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ รายการนำเที่ยวเกือบทุกรายการจะบรรจุรายการเยี่ยมชม ๒ วัดนี้เข้าไปด้วย
รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นจุดเปลี่ยนเรื่องคตินิยมในการสร้างวัดประจำรัชกาล เนื่องจากมีพระราชดำริว่ากรุงรัตนโกสินทร์มีพระอารามหลวงอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว จึงไม่มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างเพิ่มอีก พระองค์ทรงยึดถือคติเดิมว่า จุดประสงค์ของการสร้างวัดก็เพื่อเป็นสถานศึกษาให้แก่กุลบุตรกุลธิดา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแทนการสร้างพระอารามหลวงประจำรัชกาลของพระองค์ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ โรงเรียนมหาดเล็กหลวงนี้ได้รวมกับโรงเรียนราชวิทยาลัย แล้วได้พระราชทานนามใหม่ว่า "โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย"
เราอาจจะถือว่า โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยนั้นเสมือนวัดประจำรัชกาลในรัชกาลที่ ๖ ก็ย่อมได้ แต่ประชาชนทั่วไปถือว่า "วัดบวรนิเวศวิหาร" เป็นวัดประจำรัชกาล เพราะทรงผนวชที่วัดนี้จึงทรงผูกพันเป็นพิเศษและเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ อีกวัดหนึ่งก็คือ "วัดพระปฐมเจดีย์" ซึ่งพระองค์ทรงเลื่อมใสศรัทธาพระพุทธเจดีย์แห่งนี้มาก ด้วยเคยสำแดงปาฏิหาริย์เปล่งรัศมีให้ทรงประจักษ์ถึง ๒ ครั้งด้วยกัน คือ ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นมหามกุฎราชกุมารและเมื่อเสด็จเสวยราชสมบัติแล้วอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์หลายสิ่งหลายอย่างในปูชนียสถานแห่งนี้นอกจากนั้นยังเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์อีกแห่งหนึ่งด้วย
ตั้งแต่รัชกาลที่๖ เป็นต้นมาไม่ได้มีการกำหนดหรือตั้งกฎเกณฑ์ว่าวัดใดเป็นวัดประจำรัชกาล แต่ถือเอาความผูกพันและความเกี่ยวข้องซึ่งพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นๆ มีต่อวัดใดวัดหนึ่งเป็นกฎเกณฑ์มากกว่าซึ่งก็ไม่ได้เป็นเกณฑ์ตายตัว
มาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศชาติเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธฯ แทนการสร้างวัด ถือได้ว่าวัดราชบพิธฯ นี้เป็นวัดประจำพระองค์ วัดแห่งนี้จึงเป็นวัดประจำ ๒ รัชกาล คือ รัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๗ ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงครองราชย์ในระยะเวลาอันสั้น แต่ถือว่า "วัดสุทัศนฯ" เป็นวัดประจำรัชกาล เนื่องจากเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร นอกจากนี้ ทางวัดสุทัศนฯ ยังได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์และจัดตั้งมูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ไว้ด้วย
ในรัชกาลปัจจุบัน ประชาชนได้ถือว่า "วัดญาณสังวราราม" เป็นวัดประจำรัชกาล เนื่องจากเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหารที่ได้สร้างขึ้นในรัชสมัยปัจจุบันและอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปูชนียสถานภายในวัดแห่งนี้ล้วนอัญเชิญอักษรย่อพระปรมาภิไธยหรือพระนามาภิไธยขึ้นประดิษฐานโดยได้รับพระบรมราชานุญาต นอกจากนี้ภายในวัดยังมีความพิเศษ กล่าวคือมีเขต "ราชาวาส" ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระตำหนักทรงพัฒนา ใช้เป็นที่ประทับทรงธรรมในคราวแปรพระราชฐานประทับแรมที่วัดนี้ รวมทั้งยังมีพื้นที่ในโครงการพระราชดำริเพื่อพัฒนาพื้นที่การเกษตรและพัฒนาคนไปพร้อมกัน
แผนที่วัดประจำรัชกาลบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์